ประสบการณ์จากการนอนโรงพยาบาลครั้งแรกในชีวิต : ป ว ด ห ลั ง
.
ดิฉันเป็นพยาบาลวิชาชีพทำงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน เมื่อประมาณกลางเดือนเมษายน ๒๕๔๕ ดิฉันเริ่มมีอาการปวดหลังโดยไม่ทราบสาเหตุ คิดว่าเกิดจากการที่ดิฉันกินยาแก้หวัดเมื่อตอนหัวค่ำ พอรุ่งเช้าอาการยังไม่ทุเลา จึงนอนพักขดตัวเป็นกุ้งอยู่ตลอด ทั้งวันบนโซฟารูปทรงกลม หลับสนิทมาก พอสะดุ้ง ตื่นเริ่มรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณหลัง ปวดจี๊ดๆ เวลาเอี้ยวหรือก้มตัว คิดว่าไม่กี่วันคงหายเอง
๒ วันต่อมารู้สึกปวดหลังมากขึ้น เวลาก้มก็ปวดจี๊ดๆ เวลานั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ก็ต้องเกร็งหลังตลอด ถ้าไม่ทำอย่างนั้นจะปวด พอเช้าอีก วันอาการปวดเกร็งเริ่มเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะตอน ขับรถมาทำงาน เวลาเหยียบคลัตช์เพื่อเปลี่ยนเกียร์ จะรู้สึกปวดแปลบๆ มาถึงต้นขาด้านซ้ายร้าวไปถึงเท้าซ้าย แต่ยังฝืนมาทำงานตามปกติ ตอนนั้นเริ่มปรึกษาหมอที่คุ้นเคยกันในโรงพยาบาลให้ช่วยดูอาการให้ แต่วันนั้นทั้งวันงานยุ่งมาก ก็เลยไม่ได้เข้า ไปหาคุณหมอ
วันต่อมาขับรถเองไม่ได้แล้วเพราะปวดมาก หลังเกร็งแข็ง ก้มแทบไม่ได้ เพราะเวลาก้มหรือเอี้ยวตัวจะเจ็บมาก และเจ็บแปลบๆ เวลาขึ้น-ลงบันได คราวนี้จึงไปพบคุณหมอ ได้ยาแก้กล้ามเนื้ออักเสบมากิน คุณหมอให้นอนพักมากๆ เย็นวันนั้น จึงกลับบ้านเร็วกว่าปกติ มาถึงบ้านก็อาบน้ำ กินข้าว กินยา แล้วก็นอนพัก รุ่งเช้าคิดว่าอาการน่าจะค่อยๆ ทุเลาขึ้น จึงเตรียมตัวมาทำงานตามปกติ แต่บังเอิญ เช้าวันนั้นอากาศค่อนข้างเย็น เนื่องจากเป็นคนแพ้ อากาศจึงจามอย่างแรง ทำให้ปวดแปลบบริเวณหลัง ทันที ก้มไม่ได้เลย หลังเกร็งแข็งไปหมด ยืนก็ปวด นั่งก็ปวด ต้องนอนราบอย่างเดียวอาการปวดจึงจะทุเลา
มาถึงที่ทำงาน คุณหมอสั่งให้เอกซเรย์ดูกระดูก สันหลังพบว่า มีความผิดปกติบริเวณข้อต่อที่ ๔-๕ อยู่เล็กน้อย จึงให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลแนะนำ ให้นอนพักบนเตียงอย่างเดียว พร้อมให้ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ และยานอนหลับมากิน ในสัปดาห์ แรกที่นอนพักในโรงพยาบาล ดิฉันไม่ค่อยปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอเท่าไรนัก เพราะคิดว่าไม่เป็นอะไรมาก รอให้การอักเสบของกล้ามเนื้อดีขึ้น กินยาที่หมอสั่ง แล้วใส่ที่พยุงหลัง (lumba support) ก็คงช่วยได้ ยังหอบงานมาแอบทำอยู่ทั้งสัปดาห์
พอเข้าสู่วันแรกของสัปดาห์ที่ ๒ ขณะกำลังยืน อาบน้ำตอนเช้า รู้สึกชาบริเวณเท้าข้างซ้าย ตั้งแต่นิ้วกลางถึงนิ้วก้อย และบริเวณฝ่าเท้าด้านนอกจนถึง ส้นเท้า พอมีอาการชาปุ๊บก็รู้ทันทีว่าอาการเริ่มไม่ดี แล้ว จึงตัดสินใจเข้ามารักษากับแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับระบบกระดูกไขสันหลังและเส้นประสาททันที หมอวินิจฉัยว่ามีการเคลื่อนของหมอนรอง-กระดูกทับรากประสาทไขสันหลัง ฉีดยาเข้ากล้ามให้ ๑ เข็ม แล้วกลับมานอนพักต่อที่โรงพยาบาล และนัด ให้ไปทำเอ็มอาร์ไอ (magnetic resonance image) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยให้ชัดเจนอีกครั้งในสัปดาห์ต่อมา
การที่ต้องไปทำเอ็มอาร์ไอทำให้ดิฉันเกิดความ วิตกกังวลใจลึกๆ เพราะไม่ทราบว่าต้องเตรียมตัว อย่างไร แต่พอไปถึงเจ้าหน้าที่ก็ให้เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็น ชุดสีเขียวคล้ายๆ กับชุดคลุมของห้องผ่าตัด ถอดชุด ชั้นในออกแล้วนั่งบนรถเข็นเข้าไปในห้องตรวจ ห้อง จะเย็นมาก เครื่องตรวจมีลักษณะเหมือนแคปซูลสีขาวทั้งเครื่องขนาดเท่าตัวคนนอน เจ้าหน้าที่ให้ดิฉัน นอนบนเตียงที่เลื่อนออกมาจากตัวเครื่อง มีสายรัดบริเวณลำตัวและท่อนขา ใช้สำลีอุดหูทั้ง ๒ ข้าง จากนั้นก็เลื่อนตัวดิฉันเข้าไปในตัวเครื่อง ซึ่งแคบ และอึดอัดมาก บริเวณผนังด้านบนและด้านข้างของ เครื่องห่างจากตัวดิฉันประมาณคืบหนึ่งเห็นจะได้ เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ก็เดินไปอยู่อีกห้องหนึ่งซึ่งมีเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์หลายๆ ตัว มีผนังที่เป็น กระจกกั้น ดิฉันสามารถได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ผ่านมา ทางสายไมโครโฟน ที่ต่อเข้ากับลำโพงเล็กๆ บริเวณ ผนังด้านบนของเครื่อง มีเสียงของเจ้าหน้าที่คอยบอกว่าควรทำอย่างไรบ้าง พอเจ้าหน้าที่บอกว่าเริ่ม ก็มีเสียงดังเป็นเสียงสูงๆ ต่ำๆ สลับกันเป็นพักๆ ดิฉันพยายามทำสมาธิหายใจเข้า-ออกๆ เจ้าหน้าที่ จะแจ้งให้ทราบเป็นระยะๆ ว่า อีก ๑๕ นาทีนะคะ อีก ๑๐ นาทีนะคะ อย่าดิ้นนะคะ ตลอดการทำสงสัยจะรู้ว่าคนทำกลัวและเกร็ง กว่าจะครบตามเวลา ประมาณ ๓๐ นาที ก็รู้สึกหายใจไม่ค่อยโล่งแขนกับ ขาเกร็งจนล้าไปหมด จากนั้นรอสักครู่ก็ได้รับแจ้งผล ปรากฏว่ามีการเคลื่อนของหมอนรองกระดูกทับรากประสาทไขสันหลัง บริเวณ L4-L5 และ L5- S1 และความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลาง
จากนั้นดิฉันก็นำฟิล์มกับผลการตรวจกลับไปหาคุณหมออีกครั้ง คุณหมอนัดให้ทำการผ่าตัดเพื่อ ตัดส่วนที่เคลื่อนมาทับออก (disectomy) พอทราบ ว่าต้องผ่าตัดถึงจะหาย ดิฉันรู้สึกใจหายวาบ คิด อะไรก็ไม่ออก เพราะคาดว่าหลังจากที่หมอดูฟิล์มแล้วคงจะแนะนำให้นอนพักสักระยะหนึ่ง ให้ยาไป กินร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ไม่น่าจะร้ายแรงถึงขนาดต้องผ่าตัด น่าจะมีวิธีการรักษาอื่นที่ไม่ต้อง ผ่าตัด
ดิฉันกลับมาปรึกษากับครอบครัว เพื่อนฝูงและผู้มีความรู้และประสบการณ์ตรงหลายคนว่า จะทำอย่างไรดี ทุกคนก็ให้ความเห็นที่แตกต่างกัน ไป บางคนที่เห็นด้วยกับหมอก็บอกให้รีบๆ ผ่าตัด เสีย จะได้ไม่ต้องทนเจ็บอยู่อย่างนี้ บางคนที่ไม่ เห็นด้วย ก็บอกว่าจะผ่าทำไมยังสาวอยู่ เดี๋ยวอีกหน่อยแต่งงานมีลูกจะลำบาก บางคนก็กลัวภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขณะผ่าตัด/หลังผ่าตัด บางคนก็เป็นห่วงเรื่องการทำงาน ฯลฯ แต่สุดท้ายดิฉันก็ตัดสินใจว่าหากอาการไม่ดีขึ้นจริงๆ ก็คงต้องผ่าตัด แต่ช่วงระยะเวลาที่รอการผ่าตัดนั้น จะลองใช้วิธีการรักษาหลายๆ อย่างควบคู่กันไป เผื่ออาการดีขึ้น จะได้ไม่ต้องผ่า
พอคิดได้อย่างนี้ ก็ไปขอคิวผ่าตัด ปรากฏว่าเร็วที่สุดคือเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ ต้องรอไปอีก ๑ ปี ถึงจะได้ผ่าตัด ทีนี้ก็เลยมาลองนอนพักบนเตียง อย่างเดียว (absulute bed rest) ประมาณ ๓ วัน รู้สึกอาการปวดเริ่มดีขึ้น แต่ยังมีอาการชาปลายเท้า อยู่ ลองทำกายภาพบำบัดโดยการประคบร้อน ใช้ความร้อนลึก (อัลตราซาวนด์) และการดึงหลังร่วม ด้วย ปรากฏว่าทำไปสัก ๕ ครั้ง รู้สึกเจ็บเหมือนตอนที่เริ่มเป็นใหม่ๆ ตอนแรกไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่การรักษาทางกายภาพบำบัดหมอก็บอกว่าอาจจะช่วยได้หรืออาจจะช่วยไม่ได้เช่นกัน ดิฉันลองคิด ทบทวนดูคิดว่าน่าจะเกิดจากการที่ต้องเดินทางไปทำ กายภาพฯ ที่โรงพยาบาลในเมือง เพราะโรงพยา-บาลที่นอนพักอยู่ไม่มีเครื่องมือเพียงพอ การเดินทาง ทุกวันเป็นระยะทางกว่า ๖๐ กิโลเมตร การไปเสียเวลาในการรอคอยเพื่อที่จะได้เข้าทำการรักษา ทำ ให้รู้สึกเครียด กังวล และหงุดหงิด สิ่งเหล่านี้น่าจะมีผลทำให้อาการปวดกำเริบขึ้นได้ ดังนั้น การนัดทำ กายภาพฯ ครั้งที่ ๖ จึงบอกกับคุณหมอเจ้าของไข้ว่า รู้สึกอาการ ปวดเพิ่มขึ้นจะขอหยุดทำได้หรือไม่ คุณหมอก็อนุญาต
หลังจากนั้นดิฉันรักษาตัวโดยการนอนพักบนเตียง ร่วมกับ การกินยาแก้ปวดตามแผนการรักษาประมาณ ๑ สัปดาห์ จึงขอ กลับไปนอนพักต่อที่บ้าน เพราะหลังจากเวลาผ่านไปได้ประมาณครึ่งเดือนของการนอนอยู่โรงพยาบาล ดิฉันเริ่มรู้สึกเครียดเหมือนถูกขังอยู่ในห้องแคบๆ ถึงแม้ จะมีเครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันอย่างดี อยากดูโทรทัศน์ก็มีให้ดู อยากคุยกับเพื่อนก็มีโทรศัพท์ อาหารการกินก็มีบริการ อยากนอนก็ได้นอน อยากอ่านหนังสือก็ได้อ่าน แต่เรารู้สึกว่าอยู่อย่างนี้ไม่ไหวแล้ว คุณหมอก็อนุญาต แต่พอกลับบ้าน ก็ต้องมาเจอกับปัญหาที่ทำให้เครียดเพิ่มขึ้นอีก เพราะการกลับมาพักฟื้นที่บ้านไม่ง่ายอย่างที่คิดไว้ เนื่องจากไม่มีความสะดวกสบายเหมือนที่เราเคยได้รับจากโรงพยาบาล ทำให้เพิ่มความเครียดแก่สมาชิกในครอบครัวและตัวเราเอง กลับมาบ้านได้ ๓ วัน ก็เข้ามาปรึกษาคุณหมอและ พี่ๆ ที่โรงพยาบาลว่า จะขอกลับมานอนพักที่โรง พยาบาลก่อนได้ไหม ช่วงนี้คงต้องปรับปรุงบ้านเพื่อรอรับการกลับไปพักฟื้นก่อน ถ้าอยู่ที่บ้านจะยิ่งเครียดกว่าเดิม อาการที่กำลังดีขึ้นอาจจะทรุด ลงได้ คุณหมอก็เลยให้กลับมานอนโรงพยาบาลเป็นครั้งที่ ๒
ระหว่างที่นอนพักอยู่ที่โรงพยาบาล ที่บ้านก็มี การเตรียมพร้อมค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องสถานที่ ห้อง นอน และห้องน้ำ ก็ต้องทำเพิ่มที่ชั้นล่าง ภาระหน้าที่ในบ้าน การซักผ้า รีดผ้า ทำความสะอาดบ้าน และที่สำคัญคือความรู้สึกกับความเข้าใจในโรคที่เป็น อยู่ของสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากต้องปรับทั้งพฤติกรรมของตนเองและคนในครอบครัวอย่างมาก
ส่วนเรื่องอาหารการกินจะพยายามเลี่ยงอาหารจำพวกสัตว์ปีก หน่อไม้ ผักโขม หรือผักที่มีผลต่อข้อ/กระดูก เน้นอาหารจำพวกนม และถั่วต่างๆ เพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานนานๆ การเดินบ่อยครั้ง การขึ้นบันได หรือการยกของหนัก ช่วง แรกยังขับรถไม่ได้ต้องอาศัยมาทำงานกับพี่ที่ทำงาน ที่เดียวกัน ระหว่างนั้นต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ นอกเหนือจากการปฏิบัติตัวอย่างขั้นต้นแล้ว ต้องพยายามรู้ตัวตลอดเวลาว่าเรากำลังอยู่ในภาวะพักฟื้น ยังทำงานต่างๆ เหมือนปกติไม่ได้ ต้องระมัดระวังตัวในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การนั่งทำงานต้อง เปลี่ยนเป็นเก้าอี้ที่หมุนได้ มีพนักพิงหลังและแขน ทั้ง ๒ ข้าง บางครั้งอาจต้องใช้เบาะนุ่มๆ รองพนักพิง อีกที พยายามหลีกเลี่ยงการเดินไป-มา ถ้าเป็นไปได้จะรวบรวมงานที่ต้องเดินไปทางเดียวกันให้หมดแล้วเดินไปทำครั้งเดียว หลีกเลี่ยงที่จะยกของ หิ้วของ หนักๆ ทำงานไม่หักโหมเหมือนเมื่อก่อน พยายาม ไม่เครียด ที่สำคัญหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาต้องเข้าใจอาการของโรคที่เกิดขึ้น และการดูแลพักฟื้นเพื่อไม่ให้โรคกลับมาเป็นซ้ำอีก
นอกจากนี้ ดิฉันยังใช้วิธีการรักษาทางการแพทย์แผนไทย โดยการนวด อบ ประคบด้วยสมุนไพร สลับกับการทำกายภาพบำบัดแบบง่าย คือ การประคบด้วยความร้อนเป็นบางครั้ง และทำสลับกันไปเป็นพักๆ แต่ที่เริ่มทำตลอดและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องหลังจากกลับมาพักฟื้นที่บ้านและทำงานตามปกติ คือ การบริหารร่างกายโดยเฉพาะ หลังและกล้ามเนื้อหน้าท้อง โดยเริ่มทีละ ๕ ครั้ง จากนั้นก็เพิ่มเป็น ๑๐ ครั้ง ๑๕ ครั้ง จนถึง ๒๐ ครั้ง ต่อท่า และทำเป็นประจำจนถึงทุกวันนี้
หลังจากนั้นอาการเริ่มดีขึ้นตามลำดับ ๓ เดือน ต่อมา ดิฉันสามารถขับรถยนต์ได้เอง แต่เป็นระยะทางใกล้ๆ เดินได้เร็วขึ้น ขึ้นบันไดโดยไม่มีอาการเจ็บ นั่งทำงานนานๆ ได้โดยไม่มีอาการเมื่อยหลัง หรือปวดก้น นั่งรถเป็นระยะทางไกลได้นานขึ้น แต่ยังไม่กล้าเสี่ยงที่จะเดินทางไกลๆ เช่น เดินทางไปกรุงเทพฯ โดยรถทัวร์ เป็นต้น การไปท่องเที่ยวตาม ธรรมชาติ เช่น ภูเขา น้ำตก การเดินดูของ-ซื้อของ ตามห้างนานๆ ถูกงดไปโดยปริยาย ปัจจุบันดิฉันสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ทำงานได้ เต็มศักยภาพ แต่ก็พยายามไม่เครียดและไม่หักโหม เกินไป ทดลองออกกำลังกายโดยการเต้นแอโรบิกเบาๆ คิดว่าพอถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ อาจจะไม่ต้องผ่าตัดเหมือนที่คุณหมอบอกก็ได้
การที่ได้ประสบการณ์ตรงจากการเจ็บป่วยครั้งนี้ ทำให้รู้สึกว่า ที่จริงแล้วชีวิตที่มีความสุขนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผู้คนทั้งหลายไขว่คว้าอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมายมิใช่ข้าวของ เครื่องใช้ เงินทอง แต่เป็นความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณมากกว่า ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตอยู่ ดิฉันอยากจะขอบคุณทุกคนที่ได้ช่วยให้กำลังใจ และคอยดูแลเป็นห่วงเป็นใยดิฉันมาตลอด โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่คอยประคับประคองให้ชีวิตผ่านช่วงวิกฤติมาหลายครั้งหลายครา ดิฉันรู้สึกสำนึกในความกรุณาของพี่ๆ เพื่อนๆ และน้องๆ ที่ทำงานที่คอยช่วยเหลือ แบ่ง เบาภาระในการทำงานตลอดระยะเวลาที่ดิฉันเจ็บ ป่วย รวมทั้งคอยผัดเปลี่ยนกันมานอนเฝ้าดิฉันเป็น ประจำ รู้สึกซึ้งในน้ำใจของเพื่อนๆ ที่มาเยี่ยมเยียน และสอบถามอาการด้วยความเป็นห่วงอยู่ทุกระยะ รู้สึกถึงความเอื้ออาทรของผู้คนที่เคยมีประสบการณ์ เหล่านี้แล้วให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว ดิฉันรู้สึกมีกำลังใจเมื่อผู้คนที่ไม่เคยรู้จักได้หยิบยื่นข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ให้ได้ทราบ และขอขอบคุณทุกๆ คนที่ไม่ได้กล่าวถึงอีกมากมาย ที่สำคัญดิฉัน รู้สึกว่าการหายจากเจ็บป่วยในครั้งนี้ ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้ได้มากขึ้น
กรุณา Inbox เพื่อขอรับสิทธิ์ทดลองนำใช้เครื่องได้ฟรี! ที่
Progrss Autotec Ltd.
สาขาเวียงจันทร์ สปป.ลาว โทร. 020 2939 7368
สาขากรุงเทพฯ ประเทศไทย
โทร. 082 151 9594,086 517 8595
.
Line Id : Oilirada
.
WhatsApp : Progress
.
IG : oil_pps
.
Fb : LifeGear Inversion Table
ขอขอบคุณ : หมอชาวบ้าน/somsak/ http://www.doctor.or.th/article/detail/1982
วันที่: Wed Jan 08 06:38:26 ICT 2025
|
|
|